Sun Room หรือห้องกระจกสำหรับกักเก็บความร้อน มีต้นกำเนิดมาจากประเทศทางแถบเมืองหนาวที่ต้องการพื้นที่สำหรับกักเก็บความ ร้อนจากดวงอาทิตย์ในช่วงฤดูร้อนอันแสนสั้น มีทั้งประโยชน์ใช้สอยสำหรับมนุษย์ในการอยู่อาศัย และสำหรับการเพาะปลูก เพื่อให้พืชได้รับแสง แต่ไม่ถูกทำลายจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น (ที่เรียกกันว่า Green House หรือเรือนกระจก) ซึ่งมีหลักการคล้ายๆกับการจอดรถไว้กลางแดด แล้วไขกระจกปิดทางระบายออกให้หมด ความร้อนจากแสงแดดที่ผ่านกระจกเข้าไปก็จะถูกกักเก็บอยู่ภายใน ทำให้เรารู้สึกได้ถึงความร้อน เมื่อเวลาเปิดประตูเข้าไปข้างในรถ แต่ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์ใช้สอยสำหรับมนุษย์เท่านั้น
สำหรับในเมืองไทย มีผู้นำรูปแบบของ Sun Room มาใช้เช่นกัน แต่เพื่อประโยชน์ที่แตกต่างไปจากที่กล่าวมาข้างต้น โดยมักจะใช้เป็นห้องพักผ่อนที่สามารถชมวิวทิวทัศน์ ดูสวนดูต้นไม้ได้รอบทิศทาง มองทะลุขึ้นไปเห็นท้องฟ้าสีครามและยังสามารถกันฝนได้อีกด้วย
รูปแบบของ Sun Room
1.แบบใช้กระจกทั้งห้อง การออกแบบห้องลักษณะนี้จะเป็นห้องที่มีพื้นที่เดี่ยวๆแยกต่างหากหรือต่อจาก ตัวบ้าน มีผืนหลังคาและผนังเป็นกระจกรอบด้าน โปร่งโล่งรอบทิศ รับแสงแดดและชมวิวได้เต็มที่
2.แบบใช้กระจกบางส่วน เป็นลักษณะประยุกต์ที่ยื่นผนังออกไปจากแนวตัวบ้านให้รับแสงสว่างและชม ทิวทัศน์ได้ โดยใช้วัสดุมุงหลังคาและผนังส่วนที่ยื่นเป็นกระจกเช่นกัน แต่จะมีพื้นที่เพดานที่เป็นส่วนโปร่งใสน้อยกว่า เพราะเป็นเสมือนส่วนหนึ่งของห้องที่ยื่นออกไป บางครั้งมีการเจาะช่องหน้าต่างที่เรียกว่า "เบย์วินโดว์" ด้วย
วัสดุและโครงสร้าง
เนื่องจากลักษณะภูมิอากาศของบ้านเราเป็นเมืองร้อนชื้น ปัจจุบันมีฤดูร้อนยาวนานและร้อนจัด จึงได้มีการคิดหาวิธีแก้ปัญหาสภาวะความร้อนจากสภาพภูมิอากาศ ด้วยการคิดค้นและผลิตวัสดุกระจกสำหรับ Sun Room โดยเฉพาะที่เรียกว่ากระจกลามิเนต กระจกอินซูเลต และกระจกนิรภัย ซึ่งมีความปลอดภัยสูง กันความร้อน และกันเสียงได้ มีความหนาตั้งแต่ 12-30 มิลลิเมตร มีสีให้เลือกหลากหลาย
โครงสร้างสำหรับทำ Sun Room ในบ้านเรานั้น เนื่องจากความต้องการวัสดุที่มีคุณสมบัติทนทาน มีอายุการใช้งานยาวนาน จึงนิยมใช้โครงสร้างโลหะจำพวกอะลูมิเนียมที่มีน้ำหนักเบา ราคาไม่แพง ติดตั้งง่าย และมีสีสันให้เลือกใช้หลากหลาย อีกทั้งยังสามารถออกแบบติดตั้งได้ตามลักษณะของหน้างานตามความเหมาะสมได้ด้วย
ปัจจุบันในเมืองไทยมีผู้นิยมทำห้อง Sun Room กันมากขึ้น แต่มีการประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพบ้านเราเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น การทำช่องหน้าต่างยื่นเบย์วินโดว์ ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของ Sun Room การทำเช่นนี้เพื่อลดพื้นที่รับแสง มีการติดผ้าม่านกรองแสง เพื่อความเป็นส่วนตัวในบางโอกาส และยังมีการทำม่านแนวนอนใต้หลังคาทั้งแบบแขวนพาดหรือแบบที่สามารถปรับแสงได้ เหมือนมู่ลี่ ใช้การติดตั้งเหมือนกับม่านทางตั้ง เพียงแต่ควรระวังอย่าให้มีระยะพาดที่ยาวเกินไป เพราะจะเกิดปัญหาหย่อนตกท้องช้าง ทั้งยังมีจัดวางเฟอร์นิเจอร์จำพวกเดย์เบดเพื่อการนั่งเล่น นอนเล่นในมุมนี้ ให้เป็นมุมพักผ่อนที่ดูน่าสบายแทน นอกจากนี้ยังมีข้อแนะนำสำหรับการทำ Sun Room เพิ่มเติมดังนี้
- ทิศที่เหมาะสมควรจะเป็นทิศเหนือ หรือทิศตะวันออก เพราะแสงแดดไม่ร้อนจัดจนเกินไป
- การทำหลังคากระจกนั้นควรทำแบบสโลป เพื่อการระบายน้ำได้รวดเร็ว และช่วยชะล้างผืนกระจกให้สะอาด
- ควรระวังหากอยู่ใต้ต้นไม้หรืออาคารสูง เพราะอาจมีกิ่งไม้ หรือสิ่งของตกหล่นใส่ ทำให้กระจกหลังคาแตกได้
- ควรทำหน้าต่างไว้ด้วยเสมอ เพื่อช่วยระบายความร้อน
- ในบางกรณีอาจประยุกต์ทำประตูหน้าต่างมุ้งลวดซ้อนอีกชั้นหนึ่ง เพื่อรับลมและกันแมลงในยามค่ำคืน
- การทำความสะอาดหลังคากระจกใช้วิธีเช็ดถูตามปกติ หากสามารถขึ้นไปทำได้ แต่สำหรับกรณีที่หลังคาอยู่สูงเกินไป อาจใช้น้ำยาเคลือบพิเศษที่เคลือบผิวด้านนอกช่วยกันสิ่งสกปรก และฝุ่นละอองยึดเกาะ
ขอขอบคุณบริษัท อลูแซท จำกัด เอื้อเฟื้อข้อมูล
เรื่อง : "ศุภวัฒน์ อริญชยวัฒน์"
ภาพ : ฝ่ายภาพบ้านและสวน
ภาพประกอบ : ศราวุธ จินตชาติ
ที่มา : http://www.baanlaesuan.com/house_preview.aspx?articleId=1773