10 ข้อควรระวัง สำหรับการปลูกต้นไม้ในอาคาร
การที่เราจะปลูกต้นไม้สักต้นไม่ใช่เรื่องง่ายค่ะ เพราะไม่ได้เป็นแค่การเดินไปร้านต้นไม้แล้วก็ชี้ๆๆ จ่ายตัง ยกกลับมาบ้าน ถ้าแค่นี้ละก็ มีหวังว่าต้นไม้ที่ซื้อมาคงจะมีชีวิตอยู่ไม่น่าจะเกินอาทิตย์ละมั้งค่ะ วันนี้จึงนำข้อควรระวังและเตรียมตัวสำหรับการปลูกต้นไม้ในบ้านมาฝากค่ะ ขอแจงเป็นข้อๆ ได้ดังนี้ค่ะ
1. มองหาที่ที่จะจัดวางต้นไม้ เพราะเราไม่ควรซื้อต้นไม้แค่เห็นแล้วชอบ แต่ควรจะมองหรือมีการจัดการเคลียร์พื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้ไว้ก่อนที่จะซื้อ เพื่อที่เวลาซื้อต้นไม้ เราจะได้ซื้อได้ถูกกับที่ที่เตรียมไว้เป็นในร่ม หรือกลางแจ้ง ไม้ที่เลือกก็ต้องดูว่าเป็นไม้ที่ชอบแสงแดดอย่างไหน หรือแม้กระทั่งใช้วางหรือแขวน เพราะต้นไม้ที่เลือกก็จะต่างกันออกไป เช่น ต้นลิปสติกแดงเป็นไม้เลื้อย และสามารถขจัดใส่กระถางแขวนตกแต่งได้ค่ะ
2. เมื่อเตรียมพื้นที่แล้ว ขั้นต่อไปคือ การเลือกหาสถานที่ซื้อต้นไม้ แนะนำนะคะ ว่าควรซื้อจากร้านที่ดูแล้วน่าเชื่อถือ หรือจากสวนโดยตรง อย่าซื้อต้นไม้เพราะเห็นแก่ราคาถูก เป็นอันขาด ควรเลือกซื้อโดยพิจารณาจากต้นไม้ที่ไม่มีตำหนิ หรือไม่ช้ำ เพราะกว่าจะนำกลับมาบ้านและลงกระถางจะทำให้ต้นไม้นั้นตายได้ง่ายค่ะ แต่ถ้าหากเป็นไม้ดอกควรเลือกต้นที่มีดอกตูมเต็มที่ยังไม่บาน เพราะเมื่อเรานำมาปลูกเราก็จะเห็นดอกบาน แต่ถ้าเป็นต้นที่มีดอกบานอยู่ เมื่อนำกลับมาปลูกดอกนั้นก็จะเริ่มเหี่ยวค่ะ
3. หากการซื้อต้นไม้นี้เป็นครั้งแรกของคุณ คุณควรเลือกต้นไม้ที่ทนทานนิดหนึ่งค่ะ ตายยากหน่อย จะได้เป็นกำลังใจในการปลูกต้นอื่นๆ ต่อค่ะ เมื่อได้ต้นไม้แล้วคุณควรที่จะศึกษาด้วยว่าต้นไม้นี้จะต้องดูแลอย่างไร จะต้องรู้ตั้งแต่ว่าดินที่ใช้ปลูกจะต้องเป็นดินประเภทไหน ต้นไม้นี้ชอบแสงแดดจัดหรือรำไร การรดน้ำจะต้องรดมาก รดทุกวัน หรือรดน้อย 3 วันรดครั้ง รวมไปถึงการให้ปุ๋ยค่ะ
4. เมื่อย้ายที่อยู่ให้ต้นไม้ สิ่งที่ควรระวังอย่างยิ่งคือ ควรขนเวลาเช้า หรือเย็น และใช้รถขนที่มีหลังคา หรือตาข่ายสำหรับบังลมและแดด ควรยึดหรือผูกต้นไม้ใว้กับรถหรือที่ยึด เพื่อไม่ให้ล้ม หรือ ตะแคง และเมื่อถึงที่หมายแล้วควรวางต้นไม้พักไว้เฉยๆ ก่อน และ เพื่อปรับสภาพภูมิอากาศ ให้กับต้นไม้...แหมม เหมือนเลี้ยงปลาเชียวค่ะ แต่เป็นเรื่องจริงค่ะ จากนั้นค่อยรดน้ำนะคะ และย้ายต่อไปนะคะ
มีข้อแนะนำนิดหนึ่งค่ะ หากที่ที่จะวางคือภายในอาคาร ในระยะแรกเมื่อได้ต้นไม้มา ควรวางต้นไม้ในที่ร่ม มีอากาศถ่ายเทได้ดี สัก 2-3 สัปดาห์ค่ะให้ต้นไม้แข็งแรง ก่อนนำไปวางในที่ที่ต้องการค่ะ
5. สิ่งที่ต้องระวังของสถานที่ตั้ง ไม่ควรตั้งกระถางต้นไม้ในที่ที่ลมพัดแรงๆ หรือที่มีไอร้อน วางต้นไม้ตามความต้องการแสงของแต่ละต้น หากต้องการแสงมากก็วางแถวๆ ประตู หรือ ต้องการแสงน้อยวางใกล้หน้าต่าง ต้นไม้บางชนิดต้องการแค่แสงจากแสงไฟก็พอ เช่น ต้นเศรษฐีเรือนใน ค่ะ
6. ต้นไม้สับเปลี่ยน ควรมีต้นไม้สำหรับสับเปลี่ยนอย่างน้อย 2 ชุดค่ะ เมื่อวางต้นไม้ตามจุดต่างๆ สักระยะหนึ่ง ต้นไม้เมื่ออยู่ในอาคารนานๆ จะโทรม ควรเปลี่ยนอีกชุด เพื่อให้ชุดที่เริ่มโทรมนำไปรับอากาศและแดดรำไร ให้ฟื้นตัวค่ะ รวมถึงให้ปุ๋ยด้วยค่ะ ควรให้ปุ๋ยทุก 3 เดือน แล้วแต่ความต้องการของต้นไม้แต่ละชนิด
7. การรดน้ำต้นไม้ การรดน้ำต้นเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ควรระวัง ตั้งแต่น้ำที่ใช้ควรเป็นน้ำไม่ร้อน หรือเย็น เกินไป ควรรดน้ำในตอนเช้า หรือตอนเย็นเท่านั้น ไม่ควรรดตอนแดดจัด ควรรดที่โคนต้น ไม่รดตรงๆ กับดอก หรือ ใบ อันนี้แล้วแต่ความชอบน้ำของต้นไม้แต่ละชนิดด้วย บางชนิดต้องรดที่โคนต้น หรือที่ดินเท่านั้น ในขณะที่บางต้นให้ใช้กระถางแช่ลงในอ่างน้ำให้น้ำซึมขึ้นมา เพื่อไม่ให้ดินแฉะเกินไป หรือให้ต้นไม้รับน้ำโดยตรง
8. ทำหลักให้กับต้นไม้ยึดเกาะ หากต้นไม้ที่นำมาปลูกยังมีอายุน้อย ลำต้นจะมีความอ่อนตัวและยืดหยุ่นสูงดังนั้นการทำหลักให้ยึดเกาะจะช่วยจัดทรงของต้นไม้ให้ดูดีขึ้นด้วยค่ะ แต่ควรระวังไม่ให้หลักปักโดนรากของต้นไม้ด้วยค่ะ
9. การดูแลรักษา เริ่มตั้งแต่ การตัดแต่งกิ่งให้ได้พุ่ม หรือขนาดตามต้องการแล้วยังเป็นการช่วยไม่ให้ต้นไม้รกอีกด้วยเพราะหากบริเวณที่ปลูกต้นไม้รกอาจเป้นที่อยู่อาศัยของสัตว์เลื้อยคลานได้ค่ะ ซึ่งห้ามไม่ควรใช้ยาปราบศัตรูพืชกับต้นไม้ในอาคารค่ะ เพราะยาก็จะระเหยอยู่ภายในอาคาร ทำให้เราจะเป็นผู้สูดดมมากว่าแมลงค่ะ
10. สังเกตุความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของต้นไม้ การที่ต้นไม้แต่ละต้นมีการเปลี่ยนแปลงต่างๆ นั้น จะเป็นเครื่องวัดความอุดมสมบูรณ์ของตนไม้ได้อีกด้วยว่า ที่เราให้ปุ๋ย รดน้ำนั้นเหมาะแก่เค้าหรือไม่ ลองสังเกตุดูนะคะตั้งแต่
- ต้นไม้เอียงไปด้านหนึ่ง คือ การที่ต้นไม้รับแสงเพียงด้านเดียว
แก้ไขโดย หันอีกด้าน หรือค่อยหมุนกระถาง
- ต้นไม้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว คือ ได้รับปุ๋ยมากเกินไป
แก้ไขโดย ลดปริมาณปุ๋ยให้น้อยลง
- ขอบใบเป็นสีเหลือง แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และก้านค่อยๆ แห้งไป คือ การที่ต้นไม้ขาดน้ำ หรือ น้ำน้อยเกินไป
แก้ไขโดย รดน้ำให้เพียงพอ และสม่ำเสมอ
- ขอบใบเป็นสีน้ำตาล โคนใบเริ่มเป็นสีเหลืองแล้วหลุดร่วง คือ การที่ต้นไม้ได้น้ำมากเกินไป
แก้ไขโดย ลดปริมาณน้ำลง และควรพรวนดินให้ร่วน เนื่องจากให้ร่วนเนื่องจากดินบางจุดอาจแข็งทำให้น้ำไม่ซึ่มผ่าน
- ใบเริ่มเหลือง แต่กิ่งก้านยังเขียว ยอดใบแคระแกรน คือ การที่ต้นไม้ขาดปุ๋ย
แก้ไขโดย การใส่ปุ๋ย แต่ต้องใส่ในปริมาณที่พอเหมาะ และหากเป็นปุ๋ยแบบละลายน้ำแล้วฉีด พ่น หรือรด เมื่อให้ปุ๋ยแล้วควรที่จะ รดน้ำตามอีกครั้งเพื่อชะล้างปุ๋ยที่ตกค้างตามใบ จะทำให้ใบไหม้ได้ค่ะ
แหล่งที่มา : www.bareo-isyss.com