เตือนภัย! หน้าฝนอย่าเก็บ ?เห็ดป่า? มากิน เสี่ยงเป็นพิษถึงตาย!
วันที่ : 3/06/2016 จำนวนผู้ชม : 21,462
นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนของแต่ละปีจะพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการกินพิษที่ขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นประจำ โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ประชาชนนิยมเก็บเห็ดป่าในธรรมชาติมากิน แต่เนื่องจากเห็ดป่านั้นมีทั้งเห็ดที่กินได้และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกัน ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด
จากข้อมูลเฝ้าระวังโรค สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปีนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 14 พ.ค. 2559 พบผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษแล้ว 65 ราย ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 35-44 ปี รองลงมาคือ 45-54 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ อาชีพส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ร้อยละ 42.9 รองลงมาคืออาชีพรับจ้าง สำหรับในปี 2558 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษ จำนวน 1,316 ราย ผู้เสียชีวิต 10 ราย โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน (มิ.ย.–ก.ย.) พบผู้ป่วยรวมกันมากถึง 985 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของผู้ป่วยทั้งหมด ส่วนผู้เสียชีวิตทั้งหมดเกิดเหตุในช่วงดังกล่าวเช่นกัน สำหรับจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ยโสธร อุบลราชธานี เลย ศรีสะเกษ และพังงา
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า เห็ดที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ คือ เห็ดระโงกพิษ บางแห่งเรียกว่า เห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มเห็ดที่มีความคล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาวหรือไข่ห่านที่สามารถกินได้ แต่มีข้อแตกต่างที่สำคัญคือ เห็ดระโงกพิษ จะมีก้านสูง กลางดอกหมวกจะนูนเล็กน้อย มีกลิ่นเอียนและค่อนข้างแรง นอกจากนี้ยังมีเห็ดป่าชนิดที่มีพิษรุนแรงอีกคือ เห็ดเมือกไครเหลือง โดยประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า แต่ยากแก่การสังเกตด้วยตาเปล่า ส่วนเห็ดชนิดสุดท้าย คือ เห็ดหมวกจีน จะเป็นเห็ดที่คล้ายกับเห็ดโคนขนาดเล็กของบ้านเรา
ทั้งนี้ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ทดสอบความเป็นพิษของเห็ด เช่น การจุ่มช้อนเงินลงไปในหม้อต้มเห็ด การนําไปต้มกับข้าวสาร เป็นต้น วิธีเหล่านี้ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการอ้างอิงในการใช้ทดสอบพิษกับเห็ดกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะเห็ดระโงกพิษที่มีสารที่ทนต่อความร้อน แม้จะปรุงให้สุกแล้ว เช่น ต้ม แกง ก็ไม่สามารถทำลายสารพิษนั้นได้
นายแพทย์อำนวย กล่าวอีกว่า สำหรับอาการหลังจากกินเห็ดพิษแล้ว จะทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือถ่ายอุจจาระเหลว ไม่ควรซื้อยากินเองหรือไปรักษากับหมอพื้นบ้าน จะต้องรีบไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการกินเห็ดโดยละเอียด พร้อมกับนำตัวอย่างเห็ดพิษไปด้วย(หากยังเหลืออยู่) และควรให้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือ นัดติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากเห็ดพิษชนิดร้ายแรงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ในช่วงวันแรก แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงตามมาคือ การทำงานของตับและไตล้มเหลว ทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยที่กินเห็ดพิษเบื้องต้นให้ผู้ป่วยอาเจียนเอาเศษอาหารที่ตกค้างออกมาให้มากที่สุด โดยการล้วงคอ หรือกรอกไข่ขาว จากนั้นรีบนำผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที
ในโอกาสนี้ขอเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการเก็บเห็ดไข่ห่าน เห็ดโม่งโก้ง เห็ดระโงก หรือเห็ดระงาก ขณะที่ยังเป็นดอกอ่อนหรือดอกตูม ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนกลมรี คล้ายไข่ มารับประทาน เนื่องจากไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นเห็ดมีพิษหรือไม่มีพิษ เพราะลักษณะดอกตูมภายนอกจะเหมือนกัน ที่สำคัญหากไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ก็ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร รวมถึงหลีกเลี่ยงการกินเห็ดพร้อมกับดื่มสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้นด้วย หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ภาพประกอบจาก ssophakdee (ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา)
เนื้อหาโดย : Sanook!