เมื่อมีอาการปวดเมื่อยบริเวณต้นคอ บ่า หรือไหล่ หลาย ๆ คนมักจะเลือกรักษา โดยการนวดเป็นลำดับแรก ซึ่งถึงแม้ว่าเทคนิคการนวดต่าง ๆ ทั้งการบีบนวด เค้น บิด เอียง หรือดัดต้นคอนั้น จะสามารถบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้ แต่หากทำผิดวิธี ก็อาจเสี่ยงกับการทำให้เกิดโรคอัมพาตได้เช่นกัน
การนวดหรือจัดกระดูกต้นคอทำให้เกิดอัมพาตได้อย่างไร
โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคหลอดเลือดสมอง(Stroke) เกิดจากการที่เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง เกิดการอุดตัน ตีบ หรือแตก ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง แต่สำหรับการนวด หรือดัดกระดูกบริเวณคอนั้น มีโอกาสทำให้ หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองบาดเจ็บ หรือฉีกขาดได้
เส้นเลือดที่มาเลี้ยงสมองของเรา จะแบ่งเป็น คู่หน้า และคู่หลัง ซึ่งคู่หน้าจะวิ่งผ่านด้านหน้าของกระดูกต้นคอ ส่วนคู่หลังจะวิ่งติดกับกระดูกต้นคอขึ้นไปทางด้านหลัง ดังนั้นเส้นเลือดคู่หลังนี้จึงมีการขยับไปด้วยเวลาหมุนคอ การนวดจัดกระดูกต้นคอที่ผิดท่า หรือการบิดเอียง สะบัดคอที่รุนแรง หรือแม้แต่การกดนวด บีบเค้น ก็ทำให้หลอดเลือดไปกระแทกกับกระดูก ทำให้หลอดเลือดสมองบาดเจ็บหรือฉีกขาดได้ ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ลดลง เกิดภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาตตามมา
สาเหตุอื่นๆที่คล้ายกับการบิด นวดต้นคอ ที่ทำให้หลอดเลือดได้รับบาดเจ็บได้เช่นกัน เช่นอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่มีการแทกของกระดูกต้นคอ การเอียงคอในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ หรือการเหวี่ยงศีรษะอยากรุนแรง การเล่นเครื่องเล่นบางชนิดเช่น roller coaster
อาการผิดปกติที่ควรสังเกตและรีบมารพ.
ลักษณะอาการที่พบได้คือ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดต้นคออย่างเฉียบพลันและรุนแรง บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ หลังจากนั้นจะมีความผิดปกติซึ่งอาการจะขึ้นกับตำแหน่งของสมอง ที่ขาดเลือด โดยถ้าเป็นเส้นเลือดสมองคู่หลังซึ่งพบได้บ่อยกว่า ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน เดินทรงตัวลำบาก รวมถึงอาจมีอาการชาหน้า สลับกับชาแขนขาอีกข้าง พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง กลืนลำลัก เป็นต้น แต่ถ้าเป็นอาการของสมองคู่หน้า ผู้ป่วยจะมีอาการแขนขาชาหรืออ่อนแรงครึ่งซีก หรืออาจมีอาการทางตา เช่นตาบอดหรือมองไม่เห็นเฉียบพลันได้
จะทราบการวินิจฉัยได้อย่างไร
เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงร่วมกับอาการที่สงสัยดังกล่าว ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจทางสมอง โดยปัจจุบันมีวิธีที่การตรวจพบได้เร็วและแม่นยำมากขึ้น ด้วยการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสมอง
หรือการฉีดสีเส้นเลือดสมอง
วิธีการรักษา
โดยปกติภาวะหลอดเลือดฉีกขาด จะมีการซ่อมแซมได้เองภายใน 6-12 เดือน ประมาณ 60—90% แต่ในระหว่างนี้จำเป็นต้องให้ยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือดเพื่อป้องกันการเกิดเส้นเลือด สมองตีบซ้ำ ซึ่งมีโอกาสเกิดได้บ่อยโดยเฉพาะในช่วงเดือนแรก
การป้องกัน
1. หลีกเลี่ยง การนวดเค้น บิด ดัด บริเวณกระดูกต้นคอ หรือเหวี่ยงศีรษะอย่างรุนแรง
2. หากมีอาการปวดบ่าไหล่ ต้นคอ ท่านสามารถกดนวดบริเวณบ่าหรือไหล่ได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงบริเวณต้นคอ โดยเฉพาะท่าที่มีการบิดคออย่างรุนแรง และการนวดควรทำอย่างถูกวิธี โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
3. มีหลายวิธีที่ช่วยรักษาอาการปวดต้นคอได้ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกบริหารกล้ามเนื้อต้นคอให้ แข็งแรง การใช้ยารักษา หรือปรึกษาแพทย์เพื่อรับการกายภาพบำบัด ฝังเข็ม เป็นต้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก พญ.ศุภมาศ วิบูรณ์สุขสันต์ ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี
ภาพประกอบจาก istockphoto
เนื้อหาโดย : Sanook!