ถึงแม้ชาวไทยจะคุ้นแคยกับ 3 ฤดูในบ้านเรากันเป็นอย่างดีแล้ว (ฤดูร้อน ฤดูร้อนมาก และฤดูร้อนสุดๆ) แต่ยังไงเราก็ยังคงต้องระวังรักษาตัวเองจากแดดแรงๆ นี่กันอยู่ดี จะปล่อยให้ตัวเองถูกแดดเผา จนเป็นลมเป็นแล้ง หรือเป็นโรคร้ายแรงอื่นๆ ถึงขั้นลมหมอนนอนเสื่อ หรือต้องพบแพทย์ก็คงไม่ดี
จึงนำข้อมูลดีๆ จาก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มาเตือนชาว ให้ระวัง 4 โรคที่มาพร้อมกับแดดแรงๆ อากาศร้อนอบอ้าวนี่กันค่ะ
1. ลมแดด (ฮีทสโตรก)
หลายคนเริ่มคุ้นหูกับคำว่าฮีทสโตรกมากขึ้นกันแล้วใช่ไหมคะ ฮีทสโตรกเป็นชื่อภาษาอังกฤษของโรคลมแดด หรืออาการที่เป็นลมจากอากาศร้อนจัด ร่างกายระบายความร้อนไม่ทัน ร่างกายอุณหภูมิสูงขึ้น บวกกับอาการขาดน้ำที่จะมาช่วยหล่อเลี้ยงร่างกาย และช่วยลดอุณหภูมิของร่างกายให้เป็นปกติ นอกจากนี้เป็นเพราะเราสูญเสียน้ำจากร่างกายออกไปทางเหงื่อจำนวนมาก แล้วไม่ได้ดื่มน้ำเข้าสู่ร่างกายเพื่อทดแทนเหงื่อที่เสียไป ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายช็อคจากการขาดน้ำได้เหมือนกัน
2. เพลียแดด
เพลียแดดมีอาการคล้ายลมแดด แต่อาจจะยังไม่ถึงขั้นมีอาการชัก หรือเป็นลมล้มพับไปต่อหน้าต่อตาขนาดนั้น แต่ถึงอย่างไรอาการเพลียแดดก็อันตรายไม่แพ้ลมแดดเท่าไรหรอกค่ะ เพราะอาการเพลียแดด สามารถเป็นได้ตั้งแต่ปวดศีรษะ มึนหัว บานหมุน หน้ามืด อ่อนเพลีย หมดแรง คลื่นไส้ ถึงจะยังไม่หมดสติ แต่การขาดสติสัมปชัญญะไปบางส่วน อาจเกิดอันตรายระหว่างทำงาน หรือทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอยู่ได้ เช่น เพลียแดดระหว่างทำงานกับเครื่องจักรกล หรือเพลียแดดระหว่างขับรถ น่ากลัวใช่ไหมล่ะ
3. ตะคริวแดด
ใครที่เป็นนักวิ่ง หรือชอบวิ่งออกกำลังกาย ไม่ว่าจะวิ่งตอนเช้า กลาววัน หรือเย็น ช่วงฤดูร้อน อากาศร้อนจัดแบบนี้ อาจมีความจำเป็นที่จะต้องวิ่งกลางแดดอยู่บ้าง เพราะฉะนั้นคุณอาจกำลังเสี่ยงต่ออาการ “ตะคริวแดด” ได้ค่ะ ซึ่งลักษณะอาการก็เหมือนกับตะคริวธรรมดาๆ กล้ามเนื้อกระตุก เกร็ง และรู้สึกปวด เจ็บในบริเวณที่เป็นตะคริวเป็นอย่างมากจนวิ่งต่อไปไม่ไหว อาการตะคริวที่พบมักเป็นช่วงขา แขน และหลัง หากมีอาการตะคริวแดดให่รีบหยุดวิ่ง อยู่นิ่งๆ แล้วค่อยๆ ดื่มน้ำ หรือดื่มน้ำผลไม้ เพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย และชดเชยน้ำ และเกลือแร่ที่เสียไป หากอาการตะคริวไม่ดีขึ้นภายใน 30 นาที- 2 ชั่วโมง ควรหยุดวิ่งไปเลย 1-2 วันค่ะ
4. ผิวหนังไหม้เกรียมแดด
สาวๆ คงไม่ปล่อยให้ตัวเองผิวหนังไหม้เกรียมง่ายๆ หรอก แต่ก็ไม่แน่ใจหากสาวๆ มีแพลนจะไปลัลล้าที่ชายทะเล บางครั้งความสวยของทะเล ความสนุกของกิจกรรมต่างๆ ที่ทะเล อาจทำให้เราลืมดูแลผิว หรือลืมไปว่ากลัวผิวคล้ำดำเสีย จนไม่ได้ทาครีมกันแดด ซึ่งต่อมาก็จะเป็นสาเหตุของผิวหนังไหม้เกรียมแดด ตอนผิวลอกบางคนก็แสบ บางคนก็ไม่แสบ แต่หากใครผิวแสบก็จะโชคร้ายหน่อย เพราะนอกจากผิวจะแดดจัด ผิวบางลงจากผิวลอกแล้ว ยังต้องวุ่นวายกับการหาครีมแก้ผิวไหม้มาทากันอีก ใครที่มีผิวแสบไหม้จากแดด นอกจากเจลเย็นๆ แก้ผิวไหม้ที่มีขายตามร้านต่างๆ แล้ว ว่านหางจระเข้ก็ช่วยทำให้ผิวดีขึ้นได้นะคะ ยิ่งว่านหางจระเข้แช่เย็นด้วย ยิ่งฟินเลยขอบอก
ความรุนแรงของอาการลมแดด
-
หากรู้สึกเพลีย แต่ยังมีสติ ให้รีบเข้าที่ร่ม นั่งพักในที่ๆ อากาศถ่ายเท หรือในห้องปรับอากาศ ดื่มน้ำเย็น และเช็ดตัว อาการจะดีขึ้น
- หากมีอาการตัวร้อนจัด เหงื่อไม่ออก คลื่นไ้ส อาเจียน ปวดศีรษะ เป็ลมหมดสติ อาจเป็นอาการช็อคที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
การปฐมพยาบาลผู้เป็นลมแดด
-
นำตัวเข้าที่ร่ม นอนราบ ยกเท้าสูง ถอดเสื้อผ้าตัวนอกออก
-
เทน้ำเย็นราดลงบนตัว เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด
-
ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ
-
ไม่ควรใช้ผ้าเปียกคลุมตัว เพราะจะขัดขวางการระเหยออกของอุณหภูมิร้อนจากร่างกาย
- รีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด
วิธีป้องกันโรคต่างๆ ที่มากับหน้าร้อน
- ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี โปร่งสบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าหนาๆ หรือสีเข้ม
- หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดจัดนานๆ
- ปกป้องร่างกายจากแดดด้วยการใส่หมวก กางร่ม สวมแว่นกันแดด และทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF ไม่ต่ำกว่า 15 สามารถทาทับเพิ่มเติมได้หากเหงื่อออก หรือว่ายน้ำ
- อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ ดื่มน่ำให้มากๆ ดื่มเรื่อยๆ เมื่อกระหายน้ำ
- อย่าอยู่บริเวณที่มีอากาศร้อนอบอ้าว และอากาศไม่ถ่ายเทเป็นเวลานาน เช่น ตามบ้านไม้มุงหลังคาสังกะสี ในรถที่ตากแดดนานๆ
- อย่าอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน ใช้เวลาสัมผัสแสงแดดให้น้อยที่สุด หรือหากต้องทำงานกลางแสงแดดร้องเปรี้ยงจริงๆ ควรพักเข้ามาหลบอยู่ในที่ร่มบ้าง หรือทุกๆ ชั่วโมง
- หากมีอาการร้อนในร่างกาย เหงื่อไม่ออก คลื่นไส้ เวียนศีรษะ มีอาการงง พูดช้าลง เลอะเลือน เคลื่อนไหวช้า ควรรีบส่งแพทย์โดยด่วน
ร้อนนี้ ไม่ว่าใครก็ตามที่ต้องทำงานกลางแจ้ง หรือใครที่วางแผนอยากไปเที่ยวทะเล เที่ยวภูเขา หรือสถานที่ต่างๆ อย่าลืมดูแลตัวเอง และคนรอบข้างให้ดีๆด้วยนะคะ สิ่งสำคัญมีแค่ 2 อย่าง คือระบายความร้อนจากร่างกายให้เร็วที่สุด และดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เท่านี้จะร้อนแค่ไหน เราก็รอดปลอดภัยแน่นอน
ขอขอบคุณ
ข้อมูล : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข